มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมมลพิษ: ศึกษากรณีโรงงานผลิตเอทานอล ตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี
ประพาฬรัตน์ สุขดิษฐ์1
การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษามาตรการทางกฎหมายในการควบคุมมลพิษของประเทศไทยและต่างประเทศ 2) เสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่จะทำให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษโรงงานผลิตเอทานอล ได้แก่ ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน จำนวน 19 ราย และกลุ่มที่ 2 นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 ราย รวมทั้งสิ้น 24 ราย เป็นการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และนำมาวิเคราะห์ผล อภิปรายผล สรุปและข้อเสนอแนะ
ผลการศึกษา พบว่า 1. มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมมลพิษของประเทศไทยมีการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษอยู่หลายฉบับ ซึ่งกฎหมายบางฉบับยังมีข้อจำกัดในการนำมาควบคุมปัญหามลพิษ การพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมเกิดความล่าช้า ทำให้ไม่ทันต่อการเยียวยาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ 2. สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมาย คือ ประเทศไทยควรจัดทำพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมด้วย ควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยกำหนดผู้รับผิดให้ครอบคลุมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่บริหารจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ ควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในเรื่องการชดเชยและเยียวยาโดยให้ชุมชน องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมประเมินค่าความเสียหาย
ทางสิ่งแวดล้อม ควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องอายุความ โดยขยายอายุความในการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมออกไปอีก 10 ปี นับแต่วันที่รู้ความเสียหายและผู้ก่อให้
เกิดมลพิษ ควรกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม สำหรับข้อเสนอแนะอื่น ๆ คือ ควรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบรรยายหรืออบรมให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนมากขึ้น เน้นการประชาสัมพันธ์เรื่องสิ่งแวดล้อม ภาครัฐควรปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กและเยาวชน โดยกำหนดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนหรือกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในและนอกโรงเรียน
คำสำคัญ มาตรการ กฎหมาย ควบคุมมลพิษ
______________
อาจารย์ประจำ ณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี