ผลของสารสกัดจากขมิ้นต่อคุณสมบัติเชิงแม่เหล็กของอนุภาคแม่เหล็ก
นาโนเหล็กออกไซด์
ศิริวัฒนา อุ่นผาง1
วสุกิจจ์ ธนูรัตน์2
สุภาวดี ดาวดี3
วิยะดา หาญชนะ4
ธีรยุทธ ชาญนุวงศ์4
วรรณา ศิริแสงตระกูล5
จากคุณสมบัติที่เปลี่ยนไปของสนามแม่เหล็กในบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยการตอกหรือประทับลงบนแผ่นโลหะ เมื่อฉีดพ่นด้วยอนุภาคแม่เหล็กลงไปจะมีการดึงดูดทำให้เกิดเป็นเส้นให้เห็นร่องรอยการกู้คืนได้ และจากคุณสมบัติของอนุภาคแม่เหล็กนาโนเหล็กออกไซด์ (Iron oxide magnetic nanoparticles, IMNs) ที่แสดงคุณสมบัติเชิงแม่เหล็กได้ดีสังเคราะห์ง่าย มีความเป็นพิษต่ำ การศึกษานำร่องในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณสมบัติเชิงแม่เหล็กของอนุภาคแม่เหล็กนาโนเหล็กออกไซด์ที่เคลือบอนุภาคด้วยสารสกัดจากขมิ้น โดยการสังเคราะห์ด้วยวิธีตกตะกอนร่วมร่วมกับอัลตร้าโซนิคคาวิเตชัน แล้วเคลือบด้วยสารสกัดขมิ้น โดยมีกรดโอเลอิกเป็นตัวเชื่อม ตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปคโทรสโกปี (FTIR), แมกนีโตมิเตอร์แบบตัวอย่างสั่น (VSM) และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน (TEM) ผลการศึกษาพบว่า FTIR ยืนยันการเกิดพันธะระหว่างสารสกัดขมิ้นกับอนุภาคนาโนเหล็กออกไซด์(ความถี่ 1503.35 cm-1 และ 3370.72 cm-1)
เกิดเป็นอนุภาค Curcumin loaded-Iron oxide magnetic nanoparticles (CMNs) ที่สังเคราะห์ได้ และมีค่าการดูดกลืนแสงที่ 424 nm คุณสมบัติทางแม่เหล็กวิเคราะห์ด้วย VSM พบเป็นอนุภาคแม่เหล็กนาโนเหล็กออกไซด์ที่ประกอบด้วยแมกนีไทต์ (Fe3O4) และแมกฮีไมต์ (-Fe2O3) ขนาดของอนุภาคเฉลี่ยเมื่อวิเคราะห์ด้วย TEM พบมีขนาดใกล้เคียงกับ Unloaded-Iron oxide magnetic nanoparticles (UMNs) แต่ค่าแมกนีไตเซชันอิ่มตัวของ CMNs มีค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ UMNs และ IMNs และแสดงพฤติกรรมแม่เหล็กแบบซุปเปอร์พารา (superparamagnetic) ผลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลในการคัดเลือกอนุภาคแม่เหล็กนาโนเหล็กออกไซด์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจพิสูจน์การขูดลบร่องรอยเลขหมายรถยนต์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมต่อไป
คำสำคัญ แม่เหล็กนาโนเหล็กออกไซด์,
แมกนีไทต์, แมกฮีไมต์
_____________